สมุนไพรขันทองพยาบาท

สมุนไพรขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท Suregada multiflorum (A. Juss.) Baill.
ชื่อพ้อง Gelonium multiflorum A. Juss.
บางถิ่นเรียกว่า ขันทองพยาบาท มะดู หมากดูก (กลาง) กระดูก ยายปลวก (ใต้) ขนุนแดง (เพชรบูรณ์) ขอบนางนั่ง(ตรัง) ขัณฑสกร ช้องรำพัน สลอดน้ำ (จันทบุรี) ขันทอง (พิจิตร) ข้าวตาก (กาญจนบุรี) ขุนทอง คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์) โจ่ง (ส่วย-สุรินทร์) ดูกไทร ดูกไม้ เหมือดโรค (เลย) ดูกหิน (สระบุรี) ดูกไหล (นครราชสีมา) ทุเรียนป่า ไฟ (ลำปาง) ป่าช้าหมอง ยางปลอก ฮ่อสะพานควาย (แพร่) มะดูกดง (ปราจีนบุรี) มะดูกเลื่อม (เหนือ) เหล่ปอ (กะเหรี่ยง-แพร่).

ไม้พุ่ม หรือ ไม้ต้น -> ขนาดเล็ก สูง 4-15 ม. เปลือกค่อนข้างเกลี้ยง.
ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน หรือขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3-6 ซม. ยาว 9-14 ซม. ปลายใบแหลม หรือ มน ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบแหลมเป็นครีบ เส้นแขนงใบมี 5-9 คู่ ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วใบ ก้านใบสั้น ประมาณ 3-8 มม. หูใบยาวประมาณ 2 มม. หลุดร่วงง่าย.
ดอก -> ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตรงข้ามกับใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ไม่มีกลีบดอก. ดอกเพศผู้ ก้านช่อดอกยาว 10-15 มม. แต่ละช่อมีดอก 5-10 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. มีขนละเอียด ดอกตูมรูปกลม มีขน มีกลีบรองกลีบดอกกลม ๆ 5 กลีบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 มม. ขอบกลีบและด้านนอกมีขน เกสรผู้มี 35-50 อัน ติดอยู่บนฐานดอกนูน ๆ และมีต่อม. ดอกเพศเมีย มีกลีบรองกลีบดอก 5-6 กลีบ ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้. รังไข่มี 3 ช่อง ท่อรังไข่สั้น, ปลายแยกเป็น 2 แฉก.
ผล -> กลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีเนื้อ ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลือง. เมล็ด ค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-8 มม. เปลือกมีรอยบุ๋มใหญ่แต่ตื้น ๆ.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ หรือ ป่าผลัดใบ เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 ม. พบในทุกภาคของประเทศ.


สรรพคุณ

ต้น เปลือก -> ทำให้ฟันทน และเป็นยาถ่าย. แก้โรคตับพิการ แก้ประดง แก้พิษในกระดูก โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด กลากและเกลื้อน เนื้อไม้มีรสเมาเบื่อ แก้ลมพิษ แก้ไข้ และแก้กามโรค

 

รูปภาพจาก:treeofthai.com,th.wikipedia.org,สมุนไพร